สะพานแห่งใหม่เชื่อมใจคนพิษณุโลก
ตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลกมีแม่น้ำน่านไหลผ่านผ่ากลางเมือง จนมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า "เมืองอกแตก" ยามที่มีปัญหาความเห็นต่างขึ้นมาก็มักจะมีผู้คนนำเหตุชื่อเมืองอกแตกมาเป็นเหตุ
และด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น "ไม่มีเอกภาพ" ต่างขั้วต่างพรรคต่างกลุ่มทำให้การผลักดันโครงการใหญ่ๆเพื่อพัฒนาจังหวัดไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งตอกย้ำชื่อ "เมืองอกแตก" ซ้ำไปอีก
ในด้านการขนส่งและการจราจรจังหวัดพิษณุโลกก็มีเส้นทางรถไฟผ่ากลางเมืองคู่ขนานไปกับแม่น้ำน่านเช่นกัน ดังนั้นแม้นจะเป็นความสะดวกในการขนส่ง แต่ก็เป็นการเพิ่มปัญหาด้านการจราจรในเขตเมือง การมีสะพานเพิ่มขึ้นน่าจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้บ้าง
สะพานใหม่มีการตั้งชื่อว่า "สะพานพระราชวังจันทน์" สร้างขึ้นมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ 2 แห่งคือ ด้านทิศตะวันออก-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารอันมีพระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่กับด้านทิศตะวันตก-พระราชวังจันทน์อันมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งน้ำประกาศอิสระภาพประดิษฐานอยู่
หลายฝ่ายคาดว่า ถ้ามีรถไฟฟ้าบริการขนส่งนักท่องเที่ยวในวันหยุดเพื่อจอดรถที่เดียวเที่ยวได้ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่านจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องมีความสุขและใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้นมีการใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้สะพานใหม่จะเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวจะจดจำและมาถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งในด้านจิตใจจะเป็นสัญลักษณ์เชื่อมใจคนพิษณุโลกไว้ด้วยกัน คำว่า "เมืองอกแตก" ไม่ควรนำมาใช้กับจังหวัดพิษณุโลกอีกต่อไป
วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2564 ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก วันเปิดใช้สะพานพระราชวังจันทน์ไว้ด้วยกัน
ขอบคุณภาพ : TCEP และ MICE ภาคเหนือตอนล่าง
วันพุธ ที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08:30