login 
Home news : คลังสินค้า : Home Pitlok.Link
วัฒนธรรม จ.พิษณุโลกร่วมงานประเพณีปักธงชัย ๒๕๖๔
ในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๐๗.๐๐ น. นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีปักธงชัย และเดินขึ้นเขา นำธงขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง

ด้วยประเพณีปักธงชัย เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของอำเภอนครไทยโดยจะมีการทอธง จำนวน 3 ผืน ที่ชาวบ้านร่วมกันทอ ไปปักที่เขาช้างล้วงในวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ของทุกปี เพื่อเป็นเกียรติและขวัญกำลังใจของประชาชนชาวอำเภอนครไทย

ในการนี้ นางสุวิมล เกตุศรีบุรินทร์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกพร้อมด้วยข้าราชการเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ เขาช้างล้วง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ปัจจุบันประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับประเทศแล้ว

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ) ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก - ประเพณีปักธงชัย เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญชองอำเภอนครไทยประเพณีหนึ่งที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากชาวอำเภอนครไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อ และยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอย่างมาก ประเพณีปักธงชัยเป็นประเพณีที่ชาวนครไทยได้จัดทำขึ้น ในวันที่ ๑๔ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชน ชาวนครไทยในอดีตที่ประกอบด้วย ชาวบ้านวัดหัวร้อง บ้านในเมือง บ้านวัดเหนือ บ้านหนองลานและหมู่บ้านใกล้เคียงจะนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่เขาช้างล้วง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดตัวขนานไปกับถนนสายนครไทย - ชาติตระการ ห่างจากตัวอำเภอนครไทยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นประจำทุกปี โดยชาวนครไทยส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการนำธงไปปักบนยอดเขาช้างล้วงและความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีปักธง ที่พอสรุปได้ดังนี้

1. เชื่อว่าการปักธงจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี โดยมีความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ไปปักจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือเพทภัยต่างๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนหรือเสียชีวิตได้ เนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น นาคราชจะมาล้างบ้านล้างเมือง , ยักษ์จะมากินคน หรือช้างจะมากินข้าวที่ชาวบ้าน ทำการเพาะปลูก จากคำบอกเล่า ของพระครูประพัฒน์ธรรมคุณ เจ้าคณะอำเภอนครไทย และเจ้าอาวาสวัดเหนือ ได้กล่าวว่า ชาวบ้านได้ติดตามช้างไป พบว่ารอยเท้าช้างจะหายไปบริเวณเขาช้างล้วงทุกปี เป็นต้น ความเชื่อในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับและกล่าวถึงอยู่เสมอในหมู่ชาวนครไทย เพราะชาวบ้านหยิบยกเรื่องราว ที่ปีหนึ่งชาวนครไทยไม่ได้ไปปักธง ในปีนั้นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ เสียชีวิตไปหลายคน ตั้งแต่บ้านวัดเหนือ จนถึงหัวร้อง ในช่วงเวลาเดียวกัน ในปีนั้นชาวบ้านต้องขึ้นไปปักธงภายหลัง

2. ปักธงเพื่อระลึกถึงพ่อขุนบางกลางหาว เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองนครไทย ( บางยาง ) ครั้งแรก ได้เกิดการสู้รบกับพวกเจ้าของถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการต่อสู้รุกไล่กัน จนถึงเทือกเขาช้างล้วง ทัพของพ่อขุนบางกลางหาวประสบชัยชนะ จึงเอาผ้าคาดเอวของพระองค์ผูกปลายผ้า ปักที่ยอดเขาช้างล้วง ไว้เป็นอนุสรณ์ที่มีชัยชนะแก่ศัตรู และพระองค์ได้สั่งลูกหลานทั้งหลายไปปักธงจุดชนะศึก เพื่อรำลึกถึงชัยชนะของพระองค์ทุกปี ถ้าปีใดไม่ขึ้นไปปักก็ขอให้มีอันเป็นไป

3. ผู้ปกครองนครไทย คิดระบบการส่งข่าวสาร เนื่องจากสมัยก่อน พวกฮ่อมักจะยกพวกมารังแกชาวนครไทย จึงมีข้อตกลงกันระหว่างแม่ทัพนายกองว่า เมื่อใดเห็นผ้าขาวม้า ชักขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง ก็ให้เตรียมพลต่อสู้ศตรูเพื่อป้องกันบ้านเมือง จากคำบอกเล่าของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ จะให้เหตุผลว่า การที่เขาไปปักธงก็เพื่อให้บ้านเมืองและชุมชนนครไทยมีความสงบสุขเป็นหลัก ดังที่ นางจำรัส ทองน้อย กล่าวว่า ในสมัยที่เป็นเด็กและเป็นสาวไม่มีพิธีบวงสรวงพ่อขุนบางอย่างในปัจจุบัน การกล่าวถึงพ่อขุนบางจึงไม่มี ชาวบ้านเรียกชื่อประเพณีนี้ว่า ประเพณีปักธง แต่ในปัจจุบันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวีรกรรมของวีรบุรุษคือ พ่อขุนบางกลางหาว จะได้รับความสนใจ และยอมรับในหมู่ชาวนครไทย มากกว่าเหตุผลอื่น เห็นได้จากการตั้งชื่อประเพณีนี้ในปัจจุบันอย่างเป็นทางการคือ ประเพณีปักธงชัย จะด้วยเหตุผลใดก็ตามชาวนครไทยไปปักธงบนยอดเขาช้างล้วงเป็นประเพณีจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูล/ภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และเฟสบุ๊ค Suwimon Ketsriburin

วันอาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เวลา 05:33





เทศบาลนครพิษณุโลก จัดงานยิ่งใหญ่
ชมนักร้องดัง15วัน งานนเรศวรฯพิษณุโลก
อบรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
ส.กีฬา พล.และ กกท.พล.มอบอุปกรณ์กีฬาให้สมาคมสื่อมวลชน พล.
ศศิวัณย์ ศรีพรหม นำเสนอ ตูร์ เดอ ฟร็องส์
การแสดง เสียง สี เสียง เนรมิตวิหารทอง พระราชวังจันทน์
Home news : คลังสินค้า : Home Pitlok.Link
ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก