login 
Home news : คลังสินค้า : Home Pitlok.Link
จักรยานเลอแทป พิษณุโลก ปักธงในแผนที่โลก
นายอภิชาติ โคกทอง ทำการแทนนายกสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวของจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 14 ธันวาคม 65 กล่าวว่า

"การเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจักรยาน จาก L'ETAPE Thailand by Tour de France Phitsanulok 2022 มาเป็น L'ETAPE Phitsanulok by Tour de France 2022-2024

มีผลทั้งในด้านความถูกต้องถึงพันธะที่มีกับจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งต้องตรวจสอบจากข้อตกลงที่ทำกันไว้ และมาตรฐานของแบรนด์ที่นักปั่นจักรยานทั่วโลกยอมรับ

ในการแถลงข่าวมีการพูดถึงปัญหาจราจรในการจัดงานจักรยาน L'ETAPE ได้สรุปเพียงว่าจะนำไปถอดบทเรียน และชาวพิษณุโลกต้องเป็นออร์แกไนซ์ (ผู้จัดงาน) ร่วมกัน

ชาวพิษณุโลกควรมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและสะท้อนความรู้สึก เพราะการจัดงานที่ประชาชนชาวพิษณุโลกเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หากมีการจัดอีก 2 ปี เพราะลิขสิทธิ์ชื่องาน L'ETAPE Phitsanulok คงไม่มีจังหวัดไหนนำไปจัด ต้องเปิดเวทีให้ชาวพิษณุโลกได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น

การใช้ชื่องาน L'ETAPE ตามด้วยชื่อประเทศก่อน โดยมีชื่อเมืองต่อท้าย เป็นความนิยมกันทั่วไป มีเพียงไม่กี่เมืองในโลกที่เป็นเจ้าภาพจักรยาน L'ETAPE ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้วใช้ชื่อเมืองตามหลังชื่อเลอแทป อีกอย่างคือ ชื่อ L'ETAPE Thailand ได้มีการนำเสนอลิขสิทธิ์มาแต่แรก ทำให้เกิดการแข่งขันของหลายจังหวัดเพื่อขอเป็นเจ้าภาพ จังหวัดพิษณุโลดจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลนำเสนอ"

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 65 ที่ผ่านมา นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และนายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) แถลงข่าวหลังจัดงานเลอแทปฯ ท่จัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 65

ผู้ว่าฯ พิษณุโลกกล่าวว่า พิษณุโลกได้เป็นเมืองเจ้าภาพเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จด้วยดี สิ่งอำนวยสะดวก ที่พัก ความปลอดภัยบนถนนที่มีการปิดถนน 100% ตามมาตรฐานสากล มีการแพทย์ดูแลฉุกเฉินพร้อมสรรพ ชุมชนมีส่วนร่วม ยกระดับให้พิษณุโลกสามารถดึงงานอื่นๆ เข้าสู่จังหวัดได้ในอนาคต และจะยังคงจัดต่ออีก 2 ปีข้างหน้า

นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า ได้สนับสนุนค่าสิทธิ์การแข่งขัน ตามนโยบายใช้เทศกาลสร้างเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับจังหวัดต่างๆ ที่เป็นไมซ์ซิตี้ ซึ่งงานจักรยาน L'ETAPE มีแฟนคลับในระดับประเทศและระดับนานาชาติจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจ และมีการต้อนรับจากชาวเมือง ชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คิดเป็นรายได้จากงานจำนวน 37.17 ล้านบาท

นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TEFA) ผู้ได้รับการคัดเลือกจาก ASO ให้รับสิทธิ์เป็นผู้จัดการแข่งขันนี้ กล่าวว่า สสปน. สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์เพื่อให้นำงาน L'ETAPE มาจัดในประเทศไทย ซึ่งปี 64 มีจังหวัดเสนอตัวและผ่านมาตรฐาน 2 เมือง คือ พิษณุโลก และอุดรธานี โดยพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 1 ได้รับการยืนยันสิทธิ์การเป็นเมืองเจ้าภาพจัดงาน 3 ปีต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่งจัดงานครั้งแรกไป และเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีนักปั่นให้ความสนใจอีก

ช่วงท้ายหลังแถลงข่าวเสร็จได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม นายอภิชาติ โคกทอง ทำการแทนนายกสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก ได้ถามถึงลิขสิทธิ์และพันธะที่จังหวัดไปผูกพัน เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นภาคเอกชนสนใจเลอแทป ไทยแลนด์ฯ จึงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกีฬาจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งได้งบ 1.5 แสนบาทพร้อมทำ TOR ร่วมกันให้ไปหาข้อมูลและจัดทำเอกสารเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขอลิขสิทธิ์ให้จัดเลอแทป ไทยแลนด์ฯ

ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 65 ทาง สสปน.แจ้งว่า พิษณุโลกได้ถูกประเมินได้คะแนนลำดับที่ 1 เป็นเจ้าภาพ โดย "มูฟเอเชีย" เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เลอแทป ไทยแลนด์ กระทั่ง 15 พฤษภาคม 65 หลายหน่วยงานของพิษณุโลกได้เดินทางไปรับธงสัญลักษณ์เจ้าภาพที่ จ.พังงา มีภาพการรับธงเจ้าภาพเลอแทป ไทยแลนด์ แต่มีการวางป้ายข้อความ เลอแทป พิษณุโลก ไว้ในภาพ หลังจากนั้นจึงได้ใช้ชื่อ "เลอแทป-พิษณุโลก" มาเรื่อยๆ กระทั่งมีการจัดงานซึ่งส่งผลกระทบเรื่องการจราจร ทำให้มีการสืบค้นหาผู้จัดงาน ทั้งนี้นายกสมาคมเครือข่ายไมซ์ภาคเหนือตอนล่างได้ชี้แจงผ่านสื่อว่า ตามเอกสารจาก TIEFA ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 65 ยืนยันเป็นการจัดงานเลอแทป-พิษณุโลก ลิขสิทธิ์ถูกต้อง

ได้มีการถามว่าพันธะลิขสิทธิ์เลอแทป พิษณุโลก กับจังหวัดพิษณุโลกอยู่ตรงไหน คำถามก็คือ ใครใช้สิทธิ์และอำนาจในการตัดสินใจ ผูกพันต่อพันธะตามกฎหมายต่อจังหวัดพิษณุโลก และมีสัญญาเอกสารยืนยันจังหวัดพิษณุโลกยอมรับลิขสิทธิ์จาก TEFA หรือไม่ เพราะใครจะทำสัญญากับใครก็เป็นเรื่องของคู่สัญญานั้นๆไม่ได้มีผลผูกพันเป็นพันธะกับจังหวัดพิษณุโลก

นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคม TEFA ตอบข้อซักถามว่า อันดับแรกเจ้าของสิทธิ์คือ ASO อันดับสองคือ TIEFA เป็นเจ้าของสิทธิ์ในประเทศไทยและเป็นผู้จัด อันดับสามคัดเลือกเมืองเจ้าภาพ แปลว่าเจ้าของสิทธิ์อยู่ที่ TIEFA โดยมี สสปน.สนับสนุน ฉะนั้นเราจึงมีพันธะลิขสิทธิ์กับเมืองเจ้าภาพ คือ พิษณุโลก จึงบรรจุชื่อพิษณุโลกไป มีการลงนาม MOU กับจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ TIEFA มีสิทธิ์และอำนาจในการเปลี่ยนชื่อ

ส่วนคำถามที่สองนั้นฟังไม่ชัดเจน และได้ชี้แจงต่อไปว่ามีเอกสารทุกอย่าง ทำตามระบบสากลอยู่แล้ว ในกรณี MOU ทางผู้ทำการแทนนายกสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลกให้เปิดข้อมูล MOU ให้สื่อมวลชนได้ทราบ

ต่อข้อถามถึงผลกระทบต่อการจราจร จากเส้นทางที่ใช้แข่งขันถูกปิดยาวไปและนานเกินไป ถูกโจมตีและมีการระบายความรู้สึกในสังคมโซเชียลฯ นายบุญเพิ่ม นายกสมาคม TIEFA ตอบเพียงสั้นๆว่า ขอบคุณมากสำหรับคำเสนอแนะและยินดีไปปรับปรุง

เมื่อถามถึงการใช้คำว่า เลอแทป-พิษณุโลก แทนคำว่า เลอแทป-ไทยแลนด์ เนื่องจากหวั่นเกรงจะมีปัญหาลุกฮือ และไม่พอใจเหมือนกับคนพังงาก่อนหน้านี้ว่า มีหลักฐานหรือข้อมูลใดนำไปเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ส่วนปัญหาจราจรที่ติดขัด แต่ไม่มีใครอยากชี้แจงนั้น จะวางแผนอย่างไรและมีมาตรฐานอย่างไร เพราะได้สร้างผลกระทบ จึงนำไปสู่ที่มาของสื่อมวลชนค้นหา ที่มาที่ไปผู้จัดงานปั่นจักรยานครั้งนี้

นายบุญเพิ่มแจงว่า กรณีเลอแทป-พังงา ในอดีตนั้น ในความหมายของคำว่า ลุกฮือ นั้นไม่ใช่ประท้วง แต่ความหมายเป็นเพียงนัย ว่าเลอแทป ไทยแลนด์ แล้วติดท้าย พังงา แต่พอลงข่าวไปถูกคนในพื้นที่แนะนำว่าถูกตัดคำว่า พังงา ไปทุกครั้ง เหลือแต่เลอแลป ไทยแลนด์ จึงต้องเปลี่ยนแปลง

ส่วนปัญหาเรื่องจราจรนั้น เป็นประสบการณ์ปีแรก คิดว่าจะต้องปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นจุดด้อยและจุดอ่อนที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ทำให้คนเข้าถึงน้อยเกินไป จะต้องปรับปรุงในอนาคต วันนี้ทราบแล้วว่าเกิดอะไร เป็นไปได้ที่เส้นทางปั่นไม่เหมือนทุกปี อนาคตอาจทำเหมือน จ.พังงา คือสตาร์ทจากจุดหนึ่ง ไปจบอีกจุดหนึ่ง ลดปัญหาจราจร

อย่างไรก็ตาม นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ตอบคำถามที่ว่า ขาดการประชาสัมพันธ์จราจรหากจะจัดงานใหญ่ของจังหวัดอีก และคำถามที่ว่า จะพัฒนารับมือเส้นทางปั่นจักรยานอย่างไรต่อไป ว่า เลอแทปครั้งที่ผ่านมานั้น ขอให้เป็นบทเรียน ยอมรับเรื่องของระบบจราจร ไม่ใช่ทางผู้จัดงานอย่างเดียว ยังมีทางตำรวจภูธรเป็นผู้ควบคุมระบบจราจรในเส้นทางหลักและรอง จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

เนื่องจากช่วงเช้าหรือช่วงการปล่อยตัวจักรยาน จราจรคล่องตัวไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงท้ายๆ ของการปั่นกลับเข้าตัวเมืองมา ทางจังหวัดฯ ได้พิจารณาถึงความสมดุลระหว่างเรื่องความปลอดภัยนักปั่นกับการจราจร ยอมรับว่าในส่วนการวางแผน คือพลาด ไม่รู้นักปั่นจักรยานนั้น ปั่นทิ้งช่วง ไม่ได้มาเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีนักปั่นเข้าท้ายๆ หมดแรง ทำให้ต้องปิดถนนเป็นเวลาพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นจะต้องเป็นการถอดบทเรียนในการปรับจุดอ่อน ส่วนจังหวัดมีจุดแข็งใดจะต้องรู้

ผู้ว่าฯ พิษณุโลกย้ำว่า มีหลายวิธีต้องแก้ไข อันดับแรกง่ายๆ คือ จะต้องไม่ใช้ถนนเส้นทางขากลับเข้าเมืองอีกต่อไปแล้ว บังเอิญการจัดงานที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ต้องการนำเสนอสัญลักษณ์ของเมือง ต้องการบอกจุดเด่นของเมือง ไฮไลต์ของเมือง คือ สะพานนเรศวร และพระราชวังจันทน์ เพียงต้องการความประทับใจ แต่กลับมีจุดอ่อนเรื่องระบบจราจร ถ้าแก้จราจรได้สำเร็จ การจัดงานเลอแทปฯ ครั้งต่อไปจะสมบูรณ์

“ต้องถามคนพิษณุโลกว่าจะยอมรับผลกระทบในส่วนนี้หรือไม่ เพราะจังหวัดฯ ไม่ได้จัดแข่งตลอดทั้งปี ปีหนึ่งจะจัดเพียงครั้งเดียว จะต้องถอดบทเรียนระบบจราจรต่อไป ไม่อยากเห็นการจราจรปิดตาย ไม่อยากบอกคนพิษณุโลกว่าเราจะปิดเมืองทั้งหมด ผมบอกเพียงว่าปิดตลาดนัดเสือลากหางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ปิดตลาดทั้งหมด เพราะเป็นเส้นทางนักปั่นจักรยานผ่าน อาจเกิดอุบัติเหตุจนเสียชื่อเสียงได้ แต่ครั้งต่อไปต้องเปลี่ยนเส้นทาง ไม่ต้องกลับเข้าเมืองอีก” ผู้ว่าฯพิษณุโลกสรุปทิ้งท้าย

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก

วันพฤหัสบดี ที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 11:53





นักร้องคาราโอเกะผู้สูงอายุพิษณุโลก รอสรุป
สะพานเพื่อการท่องเที่ยว เชื่อมวัด-วัง เร่งงานทดลองใช้
ผวจ.พิษณุโลกนำปั่นทอดกฐินวัดกรับพวงเหนือ พรหมพิราม
ชาวพิษณุโลกตักบาตรทำบุญปีใหม่ ๒๕๖๕
Home news : คลังสินค้า : Home Pitlok.Link
ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก